วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ทัศนศิลป์ : พระปิดตา วัดพลับ

วันนี้ เริ่มต้นที่ พระปิดตา พิมพ์สังฆจาย วันพลับ เนื้อพุทธคุณ โดยส่วนใหญ่แล้วพระเก่าเกือบ200ปี น่าจะสมัยพระเจ้าตาก กระมั้ง เก่ากว่าสมเด็จโตอีกครับท่าน......
เนื้อมันจะปริบแตกด้านหลังแทบบทุกองค์ โดยส่วนมากนะครับ พิมพ์จะเองไปทางซ้ายบ้างขวาบ้าง หาตรงๆไม่ค่อยมี แต่องค์นี้แทบจะเป็นตำนานแล้วเพราะหาหมุนเวียนยาก จุดสำคัญดูที่เนื้อเป็นหลัก แล้วค่อยดูที่พิมพ์ กับอายุ  แต่น่าจะเป็นต้นตำหรับ ของสมเด็จโต เลยก็ว่าได้
  
 
พระเนื้อผงพิมพ์วันทา วัดพลับ 

ร้านถ่ายรูปไม่ค่อยดี ออกทึบๆไปหน่อยมองแล้วไม่ค่อยมีเสน่ห์ ต้องขออภัยด้วยครับ

ประวัติพระวัดพลับแและพิมพ์ต่างๆ




พระ วัดพลับ แตกกรุราว พ.ศ.๒๔๖๕ เนื่องจากมีผู้พบเห็นกระรอกเผือกตัวหนึ่งวิ่งอยู่ในบริเวณวัด แล้ววิ่งเข้าไปในโพรงแคบของเจดีย์ข้างอุโบสถ ด้วยความอยากได้กระรอกเผือก ผู้พบจึงได้ใช้ไม่กระทุ้งเข้าไปในโพรง แต่เมื่อชักไม้ออกมาปรากฏว่า มีพระผงสีขาวขนาดเล็กพิมพ์ต่างๆ ไหลทะลักออกมาเพราะผนังเจดีย์ที่โบกไว้แตกออกเป็นช่อง ด้วยแรงกระทุ้งของไม้ พระที่พบได้ถูกลำเลียงออกมาแจกจ่ายและให้เช่ากัน นักนิยมพระเครื่องรุ่นก่อนจึงเรียกว่า “พระกรุกระรอกเผือก”
เมื่อสังฆวรานุวงศ์เถระ (ชุ่ม) วัดพลับ ทราบเรื่อง จึงได้ให้พระเณรช่วยกันรวบรวมพระที่เหลือในกรุทั้งหมดขึ้นมาเก็บไว้ในกุฏิ

พระ วัดพลับ เป็นพระผงเนื้อขาว กล่าวกันว่า เป็นต้นตำหรับพระเนื้อตระกูลสมเด็จ ซึ่งสร้างมาก่อนพระเนื้อผงอื่นใด โดยการสร้างจะสร้างพระขึ้นจากผงวิเศษเป็นหลัก มีน้ำมันตังอิ้วเป็นตัวประสาน ผสมปูนเปลือกหอยเข้าไป ส่วนมวลสารอื่นๆ เช่น เกสรดอกไม้ ขี้ธูป ไคลเสมา ฯลฯ ล้วนเป็นส่วนผสมรอง ท่านสมเด็จพระสังฆราช (สุก) เป็นผู้คิดค้นวิธีสร้างพระผงดังกล่าว และนำมาสร้างพระเป็นองค์แรก คือ พระสมเด็จอรหัง วัดมหาธาตุ สืบต่อมาองค์อาจารย์รุ่นหลังๆ ก็ได้นำการผสมสร้างพระของท่านมาเป็นแบบอย่าง แม้กระทั่ง พระสมเด็จของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง ธนบุรี ก็ได้ศึกษาเอาพระวัดพลับเป็นแบบฉบับการสร้างพระผงของท่านด้วยเช่นกัน

พระวัดพลับมีหลายพิมพ์ทรงและมีชื่อเรียกตามลักษณะหรือเอกลักษณ์ของพิมพ์ ดังนี้

พิมพ์ยืน หรือพิมพ์วันทาเสมา



พุทธ ลักษณะ องค์พระประทับยืน พระหัตถ์ทั้งสองยกประนมถือดอกบัว พระเศียรป้อมเขื่อง ลักษณะมีปิ่นพระเมาฬี แต่ถ้ากลับองค์พระมาตามแนวนอน จะมองดูคล้ายองค์พระนอนหนุนหมอน จึงมีผู้สันนิษฐานว่า อาจเป็นปางไสยาสน์หรือ ปางปรินิพพานก็ได้ แม้ว่าจะมีประเด็นขัดแย้งในพุทธลักษณะ ดังกล่าวว่าจะเป็นพระประทับยืน หรือพระนอน ก็ตาม ปัจจุบัน พระพิมพ์นี้ได้ถูกเรียกกันและยอมรับแพร่หลายว่า เป็นพิมพ์ยืน หรือพิมพ์วันทาเสมา พระพิมพ์นี้เป็นพิมพ์ที่มีขนาดใหญ่สุดและมีค่านิยมสูงสุด ในตระกูลพระผงวัดพลับทั้งหมด

พิมพ์ตุ๊กตา

พุทธลักษณะ องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระเศียรเขื่อง พระเมาฬีปรากฏเป็นสองลอน พระกรรณทั้งสองชัด ลายละเอียดของพระพักตร์ไม่ปรากฏ ลำพระศอเลือนราง แนวพระอังสาทั้งสองกว้าง พระอุทรคอดกิ่ว การหักพระกัปประ (ศอก) ทั้งสองอยู่ในลักษณะทอดเฉียง เข้าหาลำตัวพระองค์ ค่อนข้างจะแนบชิดองค์พระ แยกออกเป็น ๒ พิมพ์ด้วยกันคือ

๑. พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ พระกรรณทั้งสองข้างจะแนบชิดติดพระพักตร์ ปลายพระกรรณทั้งสองข้างจะโค้งเข้าไปที่แก้ม พระอุระ (อก) นูนหนาเด่นชัดเจน




๒. พิมพ์ตุ๊กตาเล็ก พิมพ์นี้ถ้าตัดกรอบชิดองค์พระมากจะแลดูขนาดเล็ก นักนิยมพระเครื่องรุ่นเก่าเรียก “พิมพ์ไข่จิ้งจก”




พิมพ์พุงป่อง

พุทธ ลักษณะ องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระเศียรและวงพระพักตร์แบบผลมะตูม รายละเอียดของวงพระพักตร์ไม่ปรากฏ พระเกศคล้ายกับสวมชฏา พระกรรมทั้งสองข้างแบบบายศรี ลำพระศอรางเลือน แนวพระอังสาทั้งสองกว้าง พระอุระนูนเล็กน้อย พระอุทรนูน (เป็นเอกลักษณ์ของพิมพ์พุงป่อง) การหักพระกัปประแบบโค้งวาดมน ช่วงพระเพลาแคบ ไม่ปรากฏลายละเอียดของพระหัตถ์และพระบาท การวางซ้อนพระชงฆ์ทั้งสองข้างปรากฏแนวชัด แบ่งออกเป็น ๒ พิมพ์ด้วยกัน คือ

๑. พิมพ์พุงป่องใหญ่




๒. พิมพ์พุงป่องเล็ก




พิมพ์สมาธิ

พุทธ ลักษณะ องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระเศียรและพระพักตร์แบบผลมะตูม ไม่ปรากฏลายละเอียดของพระพักตร์ พระกรรณแบบบายศรี แนวพระอังสาทั้งสองกว้าง ช่วงพระอุระชะลูดและมีความนูนน้อย พระอุทรค่อนข้างเรียว การหักพระกัปประทั้งสองข้างวาดมนเข้าหาลำพระองค์ ช่วงพระเพลากว้าง พระชงฆ์ทั้งสองที่ซ้อนกันปรากฏแนวชัดเจน ไม่ปรากฏรายละเอียดของพระหัตถ์และพระบาท ลักษณะรูปทรง โดยรวมมีรูปสัณฐานคล้ายตัวเบี้ยจั่น ขนาดขององค์พระไม่ค่อยแน่นอน ขึ้นอยู่กับการกดพิมพ์และการหดตัวของมวลสาร ซึ่งบางองค์ก็ทำให้พระเล็กเกินขนาดก็มีปรากฏ รวมทั้ง “ขอบปีก” จะมีทั้งที่มีปีกกว้างโค้งมนหรือเว้าตามส่วนวงรี โดยกดองค์พระวางอยู่กึ่งกลางพอดี กับที่กดองค์พระเอียงโย้ไปด้านข้างซึ่งจะสวยงามสู้แบบที่องค์พระวางฉากตรง กลางไม่ได้ พระพิมพ์นี้แยกออกเป็น ๒ พิมพ์ด้วยกันคือ

๑. พิมพ์สมาธิ




๒. พิมพ์สมาธิเข่ากว้าง




พิมพ์ปิดตา

พุทธลักษณะ องค์พระประทับนั่งขัดราบ ยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างปิดพระพักตร์ แบ่งออกเป็น ๒ พิมพ์ด้วยกันคือ

๑. พิมพ์ใหญ่ มีซุ้มที่หู แขนกาง หลังอูม




๒. พิมพ์เล็ก แขนชะลูด คล้ายพระกรุวัดอัมพวา

นอก เหนือจากพิมพ์ดังกล่าวข้างต้น ยังมีปรากฏพิมพ์พิเศษ เป็นพิมพ์สองหน้า โดยมีองค์พระทั้งสองด้าน ด้านละพิมพ์ ซึ่งจะไม่ค่อยพบ หายากมาก เช่น พิมพ์พุงป่องเล็ก กับพิมพ์ตุ๊กตาเล็ก อยู่คนละด้าน




อนึ่ง การแบ่งพิมพ์พระดังกล่าวข้างต้นนี้ อาจแตกต่างจากบางสำนัก ที่จัดแบ่งพิมพ์พระสมาธิ เป็นพิมพ์สมาธิใหญ่ สมาธิเล็ก อีกด้วย แต่ทั้งนี้ ผู้เขียนสังเกตดูเห็นว่า น่าจะเป็นพิมพ์พระเดียวกันมากกว่า แตกต่างกันที่การตัดขอบพระ คือ ตัดขอบมีด้านข้างเหลือมากหรือตัดขอบชิดองค์พระ ทำให้เรียกแตกต่างกันออกไป

ลักษณะเนื้อหา

พระ วัดพลับ เป็นเนื้อผงขาวผสมปูนเปลือกหอยและเกสรดอกไม้ มีความละเอียด แน่น แกร่ง และขาวจัด เนื้อโดยทั่วไปจะปรากฏส่วนผสมของเกสรดอกไม้ เม็ดกรวด สีขาวใส บางองค์จะมีคราบสีน้ำตาลเกาะอยู่ มีทั้งที่เป็นเนื้อละเอียด และเนื้อหยาบ (มีกรวดทราย) พระส่วนมากเนื้อจะมีรอยแตกลาน อย่างที่เรียกกันว่า ลายแบบไข่นกปรอด ในบางองค์มีเนื้องอกเป็นตุ่มกลมผุดขึ้นมากจากพื้นผิดองค์พระ มีลักษณะขาวขุ่นแต่ใสกว่าเนื้อพระและมีความแข็ง นักสะสมรุ่นก่อนๆ นิยมชมชอบพระวัดพลับที่มีเนื้องอก และเรียกกันว่า “ดี” พระที่ยังไม่ผ่านการใช้มาก่อนเลย ผิวจะขาวสะอาด พระบางองค์ผิวแน่นตึงขึ้นมันคล้ายพระสมเด็จบางขุนพรหมกรุเก่า



(ภาพแสดงคราบกรุและเนื้อหาของพระวัดพลับทั้งที่ผ่านการใช้มา, ไม่ได้ใช้, พระเนื้อหยาบ และพระที่มีคราบน้ำหมาก)

พระ วัดพลับนี้ นอกจากจะพบภายในเจดีย์วัดพลับแล้ว ยังพบพระพิมพ์นี้ที่กรุ วัดโค่ง จังหวัดอุทัยธานี อีกด้วย สันนิษฐานว่า เป็นพระที่นำไปบรรจุเอาไว้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้นำไปบรรจุไว้ ความแตกต่างระหว่างพระวัดพลับ และวัดโค่ง แยกได้จากคราบกรุ ซึ่งพระของวัดโค่งจะมีคราบกรุสีน้ำตาลจับแน่นและหนาเกาะติดอยู่ทั่วไป ส่วนของวัดพลับแทบโดยทั่วไปจะไม่มีคราบกรุเลย ปัจจุบันนักนิยมสะสมจะไม่ได้แยกแยะว่าเป็นของกรุใดเนื่องจากศรัทธาในพุทธคุณ และผู้สร้างว่าเป็นสมเด็จพระสังฆราช (สุก) พระองค์เดียวกันทั้งสองกรุ

(อ่าน ข้อมูลเกี่ยวกับพระประวัติของสมเด็จพระสังฆราช (สุก) และพระวัดพลับ ของอาจารย์ จ.ส.อ.เอนก เจกะโพธิ์ ได้ที่เวป ศูนย์พระดอทคอม ตามลิงค์ http://www.soonphra.com/content/viewtopic/viewtopic.php?topicid=47&topicdetailid=67)

พระ วัดพลับนี้ ได้รับความนิยมมายาวนาน เพราะพุทธานุภาพ มีประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ ในทางเมตตามหานิยม โชคลาภ และแคล้วคลาดจากสรรพภัยต่างๆ อย่างเยี่ยมยอด


เรียบเรียงจาก

นิตยสารมหาโพธิ์ ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๓๔ วันที่ ๑๕ – ๓๐ กันยายน ๒๕๓๙
นิตยสารมหาโพธิ์ ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๓๕๓ วันที่ ๑๕ – ๓๐ มกราคม ๒๕๔๐
นิตยสารมหาโพธิ์ ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๓๕๔ วันที่ ๒๘ ก.พ. – ๑๕ มี.ค. ๒๕๔๐

นิตยสารมหาโพธิ์ ตำรานักเล่นพระ ฉบับที่ ๑๒ ประจำเดือน มีนาคม ๒๕๔๐
นิตยสารมหาโพธิ์ ตำรานักเล่นพระ ฉบับที่ ๑๕ ประจำวันที่ ๑ – ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๐

นิตยสารมรดกพระเครื่อง ฉบับที่ ๓ ประจำเดือน มีนาคม ๒๕๔๑

เวปศูนย์พระดอทคอม http://www.soonphra.com รอบรู้เรื่องพระ พระวัดพลับ
http://www.soonphra.com/content/viewtopic/viewtopic.php?topicid=47&topicdetailid=67

ภาพประกอบจาก

เวปศูนย์พระดอทคอม http://www.soonphra.com
เวปท่าพระจันทร์ดอทคอม http://www.thaprachan.com
เวปยูอะมิวเลทดอทคอม http://www.uamulet.com
ซึ่งผู้เขียนต้องขออนุญาตเจ้าของภาพและขอขอบคุณอย่างสูงมา ณ ที่นี้

เครดิต : http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=visutthisiri&date=03-02-2010&group=8&gblog=2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น