วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

พระกริ่งจีน ราชวงศ์หมิง

พระกริ่งจีน 1 ในตำนานนั้น คือ กริ่งราชวงศ์หมิง อายุสร้างไม่ต่ำกว่า 600ปี หากจะนับองค์แล้ว ในประเทศไทย มีแค่หลักสิบ เท่านั้น เนื่องจากพระกริ่งในไทย ถอดแบบมาจากกริ่งจีนแทบทั้งสิ้น และค่อนข้างต่างจากกริ่งทิเบต อย่างมีเอกลักษณ์ หากจะว่าไปแล้ว พระกริ่งนิยมนำมาทำน้ำมนต์ ไล่สิ่งชั่วร้ายออกไป  หากคิดว่าสมัย600ปีของจีน ตรงกับสมัยใดของไทย น่าจะเป็นช่วงสุโขทัย เป็นราชธานี แค่คิดก็ยาวนานแล่วว พี่น้องที่เคารพ








พระนางพญา พิมพ์สังฆาฏิ กรุน้ำ


พระเด็ดสุดคืนนี้คือ พระนางพญา  พิมพ์สังฆาฏิ กรุน้ำ(พบที่บ้านตาปาน เมื่อปี2497 บริเวณตำบลบางสะแก ริมฝั่งแม่น้ำน่าน จำนวนที่พบประมาณพันกว่าองค์เท่านั้น) องค์นี้สภาพใช้มาอย่างยาวนาน สำหรับเจ้าของคนเก่า มาถึงผมก็เข้าฟอร์มเดิม เก็บลูกเดียว แขวนจริงๆก็ไม่กี่องค์หรอกครับ ต่อให้แขวนวันละองค์ ปีหนึ่งๆพระยังไม่ครบทุกองค์เลย เข้าเรื่องเลยดีกว่า ผิวพระองค์นี้ มวลสารลอยเนื่องจากอยู่ในน้ำ มาอย่างยาวนาน แต่เราสังเกตได้อีกอย่างคือ ความเก่า ของผิวองค์พระซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ได้เป็นอย่างดี และของปลอมทำไม่ได้คือความเหี่ยวย่น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ 700-800ปี และองค์นี้เป็นพิมพ์กลาง คือสภาพพระก็ต้องยอมรับจริงๆว่าไม่สวย แต่แท้ก็พอ หุหุ





เหรียญ หลวงพ่อเอีย หลังร.5 ปี19 กะไหล่ทอง


เหรียญหลักพันพุทธคุณ หลักล้าน วันนี้ เหรียญหลวงพ่อเอีย หลังร.5 สร้างโดยอดีตผู้ราชการจังหวัดปราจีนบุรี ในสมัยนั้น โดยท่านดิเรก โสดสถิต แต่ประวัติการสร้างเหรียญและพระที่ร่วมปลุกเสกผมยังไม่มีข้อมูล วันหลังเจอจะเอามาฝากครับ ที่นำมาให้ชมคีือ พระสวยแชมป์ ครับ



หลวงพ่อเกษม เขมโก พระอภิญญาแห่งเขลางค์นคร




ประวัติหลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง



หลวงพ่อเกษม เขมโก เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2455 บิดาชื่อ เจ้าหนูน้อย มณีอรุณ มารดาชื่อ เจ้าแม่บัวจ้อน ณ ลำปาง ในวัยเด็ก เจ้าเกษม ณ ลำปาง จัดว่าเป็นคนมีสติปัญญาดีเยี่ยมและเป็นเด็กที่ซุกซนมาก เมื่อย่างเข้าสู่วัยเรียน เจ้าเกษม ณ ลำปาง เข้ารับการศึกษาระดับประถมที่ โรงเรียนบุญวงศ์ อนุกูล โรงเรียนประจำ อ.เมือง จ.ลำปาง สมัยนั้นเรียนชั้นสูงสุดแค่ชั้นประถมปีที่ 5 ปี พ.ศ.2466

เจ้าเกษม ณ ลำปาง จบชั้นสูงของโรงเรียนประถมปีที่ 5 ขณะอายุได้ 11 ปี ต่อมาในปี พ.ศ.2470 ครั้นมีอายุ 15 ปี ได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบุญยืน จ.ลำปาง เมื่อบรรพชาแล้วก็จำพรรษาศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดบุญยืน ขยันหมั่นเพียรเรียนทางด้านปริยัติศึกษาธรรมะจนถึงปี พ.ศ.2474 สามเณรเจ้าเกษมก็สามารถสอบนักธรรมชั้นโทได้

กระทั่งในปี พ.ศ.2475 สามเณรเกษม ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมา วัดบุญยืนนั่นเอง โดยมี พระธรรมจินดานายก (ฝ่าย) เจ้าอาวาสวัดบุญวาทย์วิหาร เจ้าคณะอำเภอขณะนั้นเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูอุตรวงศ์ธาดา เจ้าอาวาสวัดหมื่นเทศ และเจ้าคณะอำเภอเมือง จ.ลำปาง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระธรรมจินดานายก เจ้าอาวาสวัดป่าตั๊ว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “เขมโก” แปลว่า ผู้มีธรรมอันเกษม

ใน ปี พ.ศ.2479 พระภิกษุเขมโก ก็สามารถสอบนักธรรมชั้นเอกได้รวมทั้งสนใจศึกษาเล่าเรียนบาลีควบคู่กันไปด้วย เรียนรู้จนสามารถเขียนและแปลภาษามคธได้เป็นอย่างดี เมื่อเรียนปริยัติพอควรแล้ว สามารถนำไปปฏิบัติได้โดยไม่หลงทาง ท่านจึงหันมาปฏิบัติธรรมจนแตกฉาน โดยเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ที่มีความรู้ และเชี่ยวชาญ ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของ ครูบาแก่น สุมโน อดีตเจ้าอาวาสวัดประตูป่อง โดยได้ติดตามพระอาจารย์ออกธุดงค์บำเพ็ญภาวนาเรื่อยมา ท่านถือปฏิบัติเช่นนี้จนภายหลังได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุญยืน เมื่อปี พ.ศ.2492 ก็ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส ปลีกวิเวกไปบำเพ็ญเพียรอยู่ตามป่าช้าต่าง ๆ ทั่ว จ.ลำปาง หลายแห่ง เช่น ป่าช้าแม่อาง ป่าช้านาป้อ ก่อนมาปักหลักบำเพ็ญเพียรอยู่ที่ป่าช้าประตูม้า หรือสุสานไตรลักษณ์ ปัจจุบัน จนละสังขารเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2539 รวมสิริอายุ 84 ปี

หลวง พ่อเกษม เขมโก นับได้ว่าเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สมควรได้รับความเคารพศรัทธาจากประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ ในช่วงท่านบำเพ็ญเพียรอยู่ ณ สุสานไตรลักษณ์ ลำปาง มักมีประชาชนและญาติโยมไปกราบนมัสการมากมายทุกวันมิได้ขาด แม้ท่านละสังขารไปนานพอสมควรแล้ว ก็ยังมีประชาชนแวะเวียนไปกราบไว้สังขารท่าน ณ สุสานไตรลักษณ์จนทุกวันนี้



ศิษย์คนสนิทรำลึกถึงหลวงพ่อ

ร.ต.ต.สมาน บัวสมบัติ นายตำรวจฝีมือดีในสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่เพื่อนเคยแนะนำให้ไปถวายตัวเป็นลูก “หลวงพ่อเกษม เขมโก” แห่ง สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง เมื่อปี พ.ศ.2534 เมื่อมีโอกาสได้อยู่ใกล้ชิดและได้เห็นจริยวัตร ตลอดจนการปฏิบัติธรรมอันบริสุทธิ์ของหลวงพ่อนานเข้า ทุกเดือนนายตำรวจผู้นี้จะต้องขับรถไปรับใช้หลวงพ่อเกษม 2-3 ครั้งเสมอมิได้ขาด

เขาเล่าว่า เมื่อใกล้เทศกาลสงกรานต์ประมาณปี พ.ศ.2535 หลวงพ่อเกษมเอ่ยปากกับ ร.ต.ต.สมาน ขณะนั้นยังเป็น “นายดาบ” เพื่อนๆ มักนิยมเรียกว่า “ดาบหมาน” ว่า “ไม่เคยอาบน้ำมายี่สิบปีแล้ว” “ดาบหมาน” จึงอาสาหลวงพ่อว่า “ผมขออาบน้ำให้หลวงพ่อได้ไหม” หลวงพ่อถามว่าจะอาบอย่างไร ดาบหมานก็อธิบายว่า จะใช้กะละมังมารองน้ำแล้วก็อาบให้หลวงพ่อ หลวงพ่อจึงตกลงให้ “ดาบหมาน” อาบน้ำให้ท่านได้ นั่นเป็น ครั้งแรกและคนแรกในยี่สิบปี ที่มีโอกาสได้สัมผัสสังขารพระอริยสงฆ์แห่งเขลางค์นคร “ดาบหมาน” เล่าว่า ร่างกายของท่านไม่มีกลิ่นอะไรเลย เลยสะอาดผุดผ่อง จากนั้นมาทุกครั้งที่ “ดาบหมาน” ขับรถไปกราบนมัสการและรับใช้หลวงพ่อ ท่านก็มักจะให้ “ดาบหมาน” อาบน้ำให้เสมอ และเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึง “อภิญญา” แห่งพระอริยสงฆ์ของท่าน สามารถ ล่วงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า พอดาบหมานจอดรถปั้บ หลวงพ่อก็จะบอกกับผู้ดูแลท่านว่า “เตรียมอาบน้ำได้แล้ว” ทั้งๆ ที่ยังนั่งอยู่ในห้อง มองออกมาไม่เห็นข้างนอกด้วยซ้ำไป



แสดงอภินิหาร-ให้โชคลาภร่ำรวย



วันหนึ่งประมาณเก้าโมงเช้า เจ้าประเวทย์ ณ ลำปาง และเพื่อนเจ้าของโรงงานน้ำปลาโพธาราม ได้เอารถเบนซ์ รุ่น 500 เอสอีแอล ไปรับหลวงพ่อเกษมออกเดินทางจากสุสานไตรลักษณ์เพื่อไปทำบุญที่บ้านเจ้าประ เวทย์ ณ ลำปาง เมื่อเสร็จธุระต่าง ๆ แล้ว หลวงพ่อจะกลับสุสานไตรลักษณ์ แต่ท่านไม่ยอมขึ้นรถเจ้าประเวทย์และเพื่อนท่านบอกว่า จะนั่งรถ “ดาบหมาน” กลับ ทุกคนก็แปลกใจเพราะ “ดาบหมาน” ไม่ได้มาด้วย จึงโทรศัพท์ตามหาตัวให้มารับ ดาบหมานจึงขับรถฮอนด้าซีวิค ทะเบียน ฉ.9723 กรุงเทพฯ มารับหลวงพ่อเกษมที่บ้านเจ้าประเวทย์กลับสุสานไตรลักษณ์ทันที

“ดาบหมาน” เล่าว่า เมื่อหลวงพ่อเกษมนั่งบนรถ ท่าน หลับตาภาวนาตลอดทางจนถึงสุสานไตรลักษณ์ ก่อนลงรถ ท่านเอามือล้วงถุงขนมปังที่พกติดตัวมา หยิบขนมปังเต็มกำมือ ยกขึ้นภาวนาสักครู่แล้วถาม “ดาบหมาน” ว่า “มีตำรวจ–ทหารมาคอยอยู่กี่คน” ไม่ทันที่ดาบหมานจะตอบ ท่านพูดต่อว่า “เอาขนมปังนี่แจกทหาร 4 อัน แจกชาวบ้าน 3 อัน แจกเด็ก 2 อัน” ดาบหมานก็รับขนมปังจากหลวงพ่อเกษมไปแจกตามที่หลวงพ่อบอก

หลังจากแจกขนมปังเสร็จ พาหลวงพ่อเข้าที่พักแล้ว แม่ค้าขายของเข้ามาถามว่า “หลวงพ่อให้ขนมปังกี่อัน” ดาบหมานตอบว่า ท่านให้ ทหาร 4 อัน ชาวบ้าน 3 อัน เด็ก 2 อัน แม่ค้าบอกดาบหมานว่า หลวงพ่อให้หวย ดาบหมานจึงแทงหวย 3 ตัวบนงวดนั้นเลข “432”ออก มาตรง ๆ ได้เงิน 900,000 บาท จึงนำเงินถวายหลวงพ่อ 100,000 บาท ที่เหลือดาบหมานแจกลูกศิษย์ที่ดูแลท่าน จำนวน 11 คน คนละ 10,000 บ้าง 20,000 บ้าง ทั่วทุกคนเป็นที่ฮือฮากันในสุสานไตรลักษณ์

ดาบหมานเล่าว่า เขาถูกหวยจากเลขหลวงพ่อเกษมหลายครั้ง รวมหลายล้านบาท ก่อนหลวงพ่อเกษมมรณภาพ 15 วัน หลวงพ่อเกษมบอกปริศนาแก่ “ดาบหมาน” เขาแทงเลข “519” ถูกอีก นับล้าน งวดนั้นได้เอาเงินที่ถูกหวยมาแจกลูกศิษย์หลวงพ่อ แถมด้วยแจกแม่ค้า-พ่อค้าบริเวณสุสานไตรลักษณ์แทบทุกคน จนเป็นที่เล่าลือกันมากในยุคนั้น



วัตถุมงคลของหลวงพ่อที่ได้รับความนิยม (ขอบคุณภาพสวย ๆ จาก "ลานโพธิ์")























เหรียญ 5 รอบ หลวงพ่อเกษม เขมโก ปี พ.ศ. 2515










เหรียญระฆัง หลวงพ่อเกษม เขมโก ปี พ.ศ. 2516


พระผงมงคลเกษม ปี พ.ศ. 2517



เหรียญแตงโม หลวงพ่อเกษม ปี พ.ศ. 2517




รูปหล่อหลวงพ่อเกษตร เขมโก ก้นดอกจัน ปี พ.ศ. 2518



เหรียญหลวงพ่อเกษม เขมโก หลัง ภปร. ปี พ.ศ. 2523



พระบูชาหลวงพ่อเกษม หน้าตัก 9.9 นิ้ว ปี พ.ศ. 2536



เครดิต : https://sites.google.com/site/patihan2009/hlwng-phx-kesm-khem-ko-phra-xriy-sngkh-haeng-lan-na

รูปหล่อหัวไม้ขีดหลวงพ่อทบ วัดชนแดน ปี 05 ออกวัดชนแดน

ประสบการณ์ พระพิมพ์หัวไม้ขีดฐานสูง ปี 05 เหมือนดังนิบายเมืองจีนชนิดเล่ากันเป็นตำนานแห่งวัดพระพุทธบาทเขาน้อยชนแดน

ด้วยความที่วัตถุมงคลของ ท่านเข้มขลังไปด้วยพุทธคุณ ประกอบด้วยกับการ ให่ประชาชนบูชาด้วยราดาที่ไม่แพง จึงมีผู้มาบูชา แล้วนำไปเก็บไว้ที่ ละเป็นจำนวน มากๆ โดยเฉพาะ คนจีน หรือ เถ้าแก่ จาก ในอำเภอเมือง เพชรบูรณ์ นาเฉียง หนองไผ่ วิเชียรบุรี หล่มสัก เป็นต้น บางเจ้าเก็บไว้ให้ ลูกหลาน เป็นจำนวนหลายองค์ ก็มี เถ้าแก่โรงสีบ้าง เถ้าแก่ร้านทองบ้าง พอรู้ข่าว ว่าท่านออกวัตถุมงคล ชุดใหม่ ก็ หอบเงิน มาบูชา กัน ชนิด ที่เรียกว่า เหมา เลยกันทีเดียว

เป็นประสบการณ์ของ คุณบุญเลี้ยง เถาพันธ์ ได้เล่าให้ พระอาจารย์พรหม ฟังว่า ในสมัยก่อนนั้นหลวงพ่อทบ ท่านได้จัดสร้าง วัตถุมงคลไว้เป็นจำนวนมากในแต่ ละปี เพื่อเป็นทุนในการบูรณะประฎิสังขรณ์ วัดวาอาราม ต่างๆ ที่ท่านเป็นประท่านในการก่อสร้าง วัตถุมงแต่ละอย่างก็มี ราคาถูกมาก เพียงองค์ 5-10 บาท เท่านั้น แต่ท่านก็มีความสามารถ สร้างถาวร วัตถุไว้ในพระพุทธศาสนา ไว้เป้นจำนวนมาก

ในปี พ.ศ. 2505 ในขณะที่ คุณบุญเลี้ยง กำลังทำไร่ข้าวโพดอยู่ที่ ตำบล วังพิกุล อำเภอ บึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ ขณะที่ทำ ไร่อยู่นั้น ก็มีแม่ชี ได้นำ รูปหล่อเล็กรุ่นหัวไม้ขีด ของหลวงพ่อทบ วัดชนแดน ไปจำหน่ายให้ โดยตั้งราคา ไว้ องค์ละ 20 บาท โดยที่แม่ชีเล่า ประสบการณ์ ต่างๆ ให้กับ คุณบุญเลี้ยง ฟังเรื่องต่อหลายเรื่อง และตอนสุดท้าย คุณบุญเลี้ยง ก็เช่าบูชา รูปหล่อหลวงพ่อทบ

คุณบุญเลี้ยงเล่าว่า เงิน 20 บาท เมื่อ 50 ปีก่อน ไม่ใช่ของ น้อยๆเลย ขนาดไปรับจ้างทำไร่วันหนึ่ง ยังได้ค่าจ้างวันละ 4-5 บาท เท่านั้งเอง เงินจำนวน 20 บาท นี้ตนจึงรู้สึกเสียดาย เพราะมันช่างมากมาย และหายาก จึงได้บอกกับแม่ชี ว่าเอายังนี้ ก็แล้วกัน ก่อนที่จะบูชา ขอทดลองก่อนได้ไหม ตอนแรกแม่ชี ก็ไม่ยินยอม พอ ตนยกเหตุผลขึ้นอ้างว่า ของดีจริงย่อมลองได้ หลังจากนั้น แม่ชี จึงยอม

คุณ บุญเลี้ยง จึงเอา รูปหล่อ เล็กรุ่นหัวไม้ขีด ของหลวงพ่อทบ ไปวางไว้บนตอ ไม้ จากนั้นใช้ปืนลูกซอง ยาวทดลอง ยิงดู นัดแรกเสียงดัง แชะ จึงหักลำเปลี่ยนกระสุน นัดใหม่ แล้วเหนี่ยวไกยิง เสียงดัง แชะ เป็นครั้งที่สอง คุณบุญเลี้ยง จึงเปลี่ยนกระสุน นัดใหม่ เป็นนัด ที่สามพร้อมกัน นั้นก็ขยับ เข้าไปใกล้กับ ตอไม้ ในขณะนั้นเหลือ ระยะห่าง ระหว่างปลายกระบอก ปืนกับ รูปหล่อ เพียงฟุต กว่าๆ เท่านั้น คุณบุญเลี้ยง คิดว่ายังไงนัดนี้ รูปหล่อคงกระเด็นแน่ แต่พอเหนี่ยวไกเท่านั้นไก ปืน กลับแข็ง ออกแรง เหนี่ยวเท่าไร ก็ไม่ยอมลง จึงต้อง ยอมแพ้ ในที่สุด
 
ลงที่มานี้ไม่สวยแต่ดูง่ายครับ
เครดิต : http://www.zoonphra.com/shop/catalog.php?storeno=c003&idp=48

วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

พระโสธร 2 หน้า ปี2497 พิมพ์5-7 , 5-7

สุดยอดเหรียญหลวงพ่อโสธรที่ได้รับการเสาะแสวงหากันอย่างมากอีกชนิดหนึ่งได้แก่ "เหรียญปั๊มโสธรสองหน้า ปี 2497" ซึ่ง พระราชเขมากร (ก่อ เขมทัสสี) เจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา ดำเนินการจัดสร้างขึ้นเพื่อบูรณะวิหารหลวงพ่อโสธร โดยสร้างพร้อมกับพระชัยวัฒน์, แผ่นปั๊มหน้ากาก, เหรียญอาร์ม, เหรียญใบเสมาเล็ก, แหวนลงยา, ผ้ายันต์ และธง

เหรียญปั๊ม โสธรสองหน้า ปี 2497 นี้ นอกจากเนื้อทองเหลืองหรือเนื้อทอง ฝาบาตรแล้ว ยังมีผู้เคยพบเห็นเนื้อเงินด้วย มีสองหน้าเรียกกันง่ายๆ ว่า "พิมพ์มีวงแหวน" กับ "พิมพ์ไม่มีวงแหวน" คนรุ่นก่อนแบ่งย่อยออกอีก เป็น พิมพ์มีวงแหวน (นิยม), พิมพ์ 5-7:5-7, พิมพ์ 5-7:6-7, พิมพ์ 6-7:6-7, พิมพ์คางทูม

ข้อสังเกตของ "พิมพ์วงแหวน" ที่นิยมสุดๆ ก็คือ

- ด้านหน้าและด้านหลังจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่ด้านหน้าจะมีวงแหวน กลมๆ อยู่กลางเส้นสังฆาฏิ เหนือแนว พระถัน ส่วนด้านหลังไม่มี

- มีเส้นบล็อกแตกหนาใหญ่ที่พระอังสาขวาขององค์พระ และมีเส้นแตกเล็กๆ อยู่ที่พระอังสาซ้าย

- เม็ดพระศกเม็ดที่ 4 แถวสองนับจากข้างบนเป็นเม็ดยาวคล้ายหยดน้ำ ปลายขึ้นไปชนกับเม็ดพระศกเม็ดที่ 4 แถวบนสุด

- มีเส้นประกายรัศมีซึ่งเกิดจากการปั๊ม แผ่กระจายรอบๆ องค์พระ
- เม็ดพระศกเม็ดกลางแถวล่างสุดกลมโตเหมือนกันทั้งสองด้าน

นอก จากนี้ให้สังเกตดู "ผิวเหรียญ" จะเป็นคลื่น ไม่เรียบทีเดียวนัก และกระแสเนื้อเหลืองจะออกสีเขียว ส่วนวงแหวนจะเกินเข้าไปในผ้าสังฆาฏิประมาณ 1 ใน 3 แล้วไม่จำเป็นจะต้องติดเป็นวงกลมทุกองค์ บางองค์อาจติดไม่แต็มก็ได้ และเส้นกำไรข้อพระหัตถ์ขวา เป็นวงขนาดใหญ่ดูคล้ายกับท่านสวมเสื้อแขนยาว และในพิมพ์วงแหวนจะมีเม็ดพระศกเรียกว่า 5-7:5-7 เช่นกัน จึงมักนำพิมพ์ที่ไม่มีวงแหวนแต่เป็น 5-7:5:7 ไปหยอดวงแหวนให้เป็นพิมพ์นิยม แต่ให้ดู 5-7:5-7 ของเดิมนั้น พระกรรณจะยาวกว่า และพระพักตร์จะดูเคร่งขรึมเคร่งเครียดกว่า

ส่วนเม็ดพระศกที่ เรียกว่า 5-7:5-7, 5-7:6-7, 6-7-6-7 นั้น เป็นชื่อที่เซียนพระใช้เรียกเม็ดพระศกสองแถวบนสุด ตัวเลขแรก หมายถึงแถวบนสุด ตัวเลขที่สอง หมายถึงเม็ดพระศกแถวสองด้านหน้า ส่วนเลขอีกชุดหนึ่งหมายถึงด้านหลัง เช่น 5-7:5-7 หมายถึงพิมพ์ด้านหน้ามีเม็ดพระศกแถวบนสุด 5 เม็ดแถวสอง 7 เม็ด ด้านหลังมีเท่ากัน เป็นต้น


ส่วน พิมพ์คางทูม หมายถึง แก้มด้านขวาองค์พระมีเนื้อ เกินอูมออกมา ความจริงเป็นพิมพ์ 5-7:6-7 นิยมนำไปแก้ให้เนื้อเกินหายไป ให้ส่องดูจะพบรอยแต่ง และด้านที่เกิดคางทูมคือ ด้าน 6-7 ซึ่งบล็อกนี้คงเป็นบล็อกหลังๆ จะเห็นเส้นแตกกระจายอยู่ทั่วไป และในทุกพิมพ์ขอบข้างและฐานจะมีการตกแต่งด้วยรอยตะไบเป็นปกติครับผม
เครดิต : http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROaWRXUXhNREkyTVRFMU5RPT0=
  
รัศมีข้างวิ่งเต้มเลยครับท่าน

วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

พระกำแพงซุ้มกอ กรุวัดพิกุลทอง

พระกำแพงซุ้มกอ องค์นี้ทีแรกนึกว่ากรุฤาษีที่ไหนได้ กรุวัดพิกลุทองครับท่าน กรุละ84,000องค์มี  20กรุ มีพระแต่ละกรุ มีเป็นล้านๆกว่าองค์ก็จะหากรุเจอก็เหนื่อยแย่แล้ว พิมพ์ก็คล้ายๆกันอีก ส่วนที่ง่ายที่สุดคือพิมพ์ แล้วยากคือ ส่วนมาก(99.99%)เล่นแต่ทุ่งเศรษฐีเท่านั้น ทำให้คนขายกลายเป็นเศรษฐีในบัดดล  จริงๆ ไม่เชื่อต้องส่วนประกวดดูครับ เด๊ยวหาว่าโม้ องค์ไม่ต่ำกว่า10ล้าน (สวยๆเท่านั้น)
เรามาดูจำนวนกรุกันดีกว่าครับ

จำนวนกรุต่างๆในจังหวัดกำแพงเพชร
มีทั้งหมดประมาณไม่ต่ำกว่า 50 กรุ โดยแบ่งเป็นกรุทุ่งเศรษฐี ทั้งหมด 9 กรุ ได้แก่
1. วัดพระบรมธาตุ
2. วัดหนองพิกุล (นิยมเรียกว่า วัดพิกุล)
3. วัดซุ้มกอ หรือ กรุนาตาคำ
4. วัดฤๅษี
5. วัดน้อย หรือ กรุซุ้มกอดำ
6. บ้านเศรษฐี
7. วัดเจดีย์กลางทุ่ง
8. วัดหัวยาง
9. วัดหนองลังกา

กรุเมืองประมาณไม่ต่ำกว่า 20 กรุ ส่วน ฝั่งซ้ายซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอเมือง และเป็นเขตอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร รวมทั้งพระราชวังเก่าที่มีวัดพระแก้วอยู่ภายในด้วยรวมเรียกว่ากรุเมือง มีจำนวนประมาณ 20 กรุ ยกตัวอย่างในกรุเมืองที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี เช่น กรุวัดพระแก้ว, กรุวัดพระธาตุ, กรุวัดป่ามืด, กรุวัดช้างล้อม, กรุวัดนาคเจ็ดเศียร เป็นต้น….!

นี่แหละครับ ชีวิตเห็นสัจธรรมจริงๆกรุอื่น ถูกเซียนตีเก้ตลอด ทั้งๆที่เขาแค่เล่นกรุเดียวเท่านั้น จบ...




เหรียญ หลวงพ่อสุด วัดกาหลง ปี17

เหรียญนี้หลักพัน พุทธคุณหลักล้านอีกเหรียญนึง เพื่อนๆผมชอบเรียกว่า"เหรียญตี๋ใหญ่" คือเป็นเหรียญคงกระพันอีกเหรียญนึง เหรียญพอดูได้ไม่ถึงกับขี้เหร่ แต่ที่แปลกก็คือยันต์ของท่านเป็นยันต์ตะกร้อ ปกติเรามักจะเห็นยันต์อุขึ้น - อุลงเสมอๆ แสดงว่าท่านเก่งมีความสามารถน่าจะสำเร็จมรรคผลบางประการ ทำให้มีคุณวิเศษ มักจะเป็นที่กล่าวขวัญเสมอๆในสุมทรสาคร สำหรับส่วนตัวถึงว่าเป็นเหรียญประจำจังหวัด

เหรียญหลวงพ่อผาง จิตตคุตโต ปี2519 กองบังคับการตำรวจภูธรจัดสร้าง

เหรียญนี้เป็นเหรียญนิยมในพื้นที่เนื่องจากมีประสบการณ์(ของคนอื่น) คือว่า ตำรวจโดนยิงแล้วไม่เป็นอะไร กระสุนไม่เข้าว่างั้น แต่อย่ามาลองยิงกะผมแล้วกัน เด๊ยวผมตาย หุหุ เรามาดูรายนามพระที่ปลุกเสกดีกว่า

เหรียญหลวงพ่อผาง รุ่นตำรวจภูธรภาค 4 สร้าง ปี2519
เกจิร่วมปลุกเสกคือ
หลวงพ่อผาง จิตุตคุตโต เป็นประธานพุทธาภิเษก
พระอาจารย์ อ่อน ญาณสิริ วัดหนองบัวบาน จ.อุดรธานี
พระอาจารย์ ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร
พระอาจารย์ เทศน์ เทศรังสี วัดป่าหินหมากเป้ง จ.หนองคาย พระอาจารย์ จวนกุลเชษโฐ วัดภูถอก จ.หนองคาย
พระอาจารย์ หลุย จันุทสาโร วัดถ้ำผาบึ้ง จ.เลย
พระอาจารย์ คำดี ปภาโส วัดถ้ำผาปู่ จ.เลย
พระอาจารย์ ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ จ.เลย
พระอาจารย์ มหาโส กัสโป วัดป่าคำแคนเหนือ จ.ขอนแก่น

และเอกลักษณ์ของเหรียญนี้คือ.... จมูกจะต้องบี้ คือ บี้ตั้งแต่ปั้มพระแล้วครับ จบประการฉะนี้แล....
 

ประคำมือ ดาบดาบหงสา หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว

แค่ชื่อก็กินขาดแล้ว........เครื่องรางชิ้นนี้ ผมได้จากอดีตตัวประกอบช่อง9 เห็นว่าเป็นรุ่น2สร้างเืมื่อ2470-2480+ ประมาณนั้น เก่าเกินบรรยาย ลองมานับๆดู34เม็ด ไอ้34เม็ดมันหมายถึงอะไร กลายๆท่านว่าไว้สำหรับฝึกสมาธิ  งั้นผมลงโชว์เลยดีกว่าไม่พล่ามทำเพลงดีกว่า หุหุ
 

วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ทัศนศิปลป์ : พระปิดตา พุงป่อง หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว

หลวงปู่ยิ้ม ท่านเป็นชาววังด้ง อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ท่านเกิดปีมะโรง เดือน 5 วันอังคารปี พ.ศ.2387 เป็นบุตรนายยิ่ง นางเปี่ยม ชูชันยะ บิดาและมารดาประกอบอาชีพค้าไม้ไผ่ล่องเรือไปขายที่ปากอ่าวแม่กลอง เมื่อวัยเด็กท่านมีอุปนิสัยใจคอเป็นคนเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ เป็นนักเลง พูดจริงทำจริง ท่านได้เป็นกำลังช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพค้าไม้ไปขายทางปากอ่าวแม่กลองจน คุ้นเคยกับชาวแม่กลองเป็นอย่างดี ครั้นอายุครบบวชได้อุปสมบทที่ วัดทุ่งสมอ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี โดยมี พระอธิการรอด เจ้าอาวาสวัดทุ่งสมอ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์แดง วัดเหนือ และพระอาจารย์อินทร์ วัดทุ่งสมอ เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายาว่า จันทโชติ เมื่อบวชแล้วเรียนอักษรขอม ภาษาบาลีมงคลทีปนี มูลกัจจายน์ พระมาลัย พระเจ้าสิบชาติ ท่องสูตรสนธิจนแตกฉาน สามารถท่องพระปาฏิโมกข์ได้ตั้งแต่พรรษาที่ 2... หลวงปู่ยิ้มท่านชอบศึกษาวิชาความรู้เป็นอย่างมาก จึงได้รับคำแนะนำจากพระอุปัชฌาย์ให้ไปศึกษาวิชาไสยเวทย์และภาษาบาลีที่ เมือง สมุทรสงคราม ซึ่งมีพระอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิและเรืองเวทย์หลายสำนัก หลายแขนงวิชาต่างๆไม่ซ้ำกัน ซึ่งพอรวบรวมได้ดังนี้ คือ




1.พระปลัดทิม วัดบางนางลี่น้อย อ.อัมพวา (ซึ่งเป็นพระสหายกับอุปัชฌาย์ของท่าน) เรียนวิชาน้ำมนต์โภคทรัพย์ สมัยนั้นเชื่อกันว่าใครได้อาบน้ำมนต์วัดนี้ แล้วจะร่ำรวย ถ้าเป็นขุนนางก็จะได้เลื่อนยศฐาบรรดาศักดิ์ พระปลัดทิมมีวิชาทำผงพุทธคุณ ทางเมตตามหานิยม และวิชาโหราศาสตร์ (ปัจจุบันวัดนี้ได้ถูกน้ำเซาะตลิ่งจมหายไปในแม่น้ำแม่กลองแล้ว เสนาสนะต่างๆภายในวัดได้ถูกรื้อไปสร้างเป็น วัดภุมรินทร์กุฎีทอง ในปี2467 สมัยพระอธิการเกีย พรหมโชโต)

2. พระอธิการ พึ่ง อินทสโร วัดลิงโจน ต่อมาเรียกว่า วัดปากสมุทรสุดคงคา คืออยู่ปากอ่าวแม่กลอง ท่านเรียนวิชาทำธงกันอสุนีบาตสายฟ้าฟาดและกันพายุคลื่นลมในทะเล ชาวเรือทะเลนับถือมาก รวมถึงวิชาหวายลงอักขระ ท่านทำเป็นรูปวงกลม เวลาขาดน้ำจืด เอาหวายนี้โยนลงทะเลแล้วอาราธนาตักน้ำภายในวงหวายจะได้น้ำจืดทันที และวิชาทำหมากทุยของท่านก็เลื่องชื่อและท่านยังสำเร็จวิชามนต์จินดามณีเรียก ปลาเรียกเนื้อได้

3. หลวงพ่อกลัด วัดบางพรม อัมพวา เรียนทางมหาอุตม์ อยู่ยงคงกระพัน, ผ้าเช็ดหน้าเมตตามหานิยม และท่านยังมีวิชาย่นระยะทางและสามารถเดินบนผิวน้ำได้

4.หลวงพ่อแจ้ง วัดประดู่ อัมพวา เรียนทางแพทย์แผนโบราณ มีดหมอปราบภูตผีปีศาจ และวิชามหาประสาน เชือกคาดเอวถักเป็นรูปกระดูกงู ชื่อตะขาบไฟหรือไส้หนุมาน มีตะกรุดคู่อยู่หัวเชือกกันเขี้ยวงาและทางคงกระพันชาตรี .....

หลังจากเรียนวิชาต่างๆจนหมดสิ้นแล้ว ได้ทราบข่าวว่าวัดหนองบัวมีปรมาจารย์ที่เก่งกล้า ทรงกิตติคุณโด่งดังที่สุดองค์หนึ่งในสมัยนั้น ท่านคือ พระอุปัชฌาย์กลิ่น ซึ่งได้บำเพ็ญภาวนา วิปัสสนาธุระ ภายใน ถ้ำพุพระ(ถ้ำขุนแผน)เขตบ้านหนองบัว อ.เมือง จ.กาญจนบุรี พระอาจารย์องค์นี้มีอายุร้อยกว่าปี ชำนาญอภิญญามีอิทธิคุณถึงล่องหนหายตัวได้ หลวงปู่ยิ้มมีความศรัทธายิ่งจึงถวายตัวเป็นศิษย์ใน ปีพ.ศ.2416 เป็นศิษย์องค์สุดท้ายของท่าน และศึกษาวิชาไสยเวทย์ต่างๆอยู่จนถึง พ.ศ.2518 หลวงปู่กลิ่นได้มรณภาพลง สิริอายุได้ 117 ปี วัดหนองบัวจึงว่างเจ้าอาวาส ดังนั้นชาวบ้าน ต.หนองบัว จึงพร้อมใจนิมนต์หลวงพ่อเฒ่ายิ้มเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองบัวองค์ที่4 ในปี พ.ศ.2420 ต่อมา

ตามประวัติ เจ้าอาวาสวัดหนองบัว มีดังนี้

องค์ที่1. หลวงปู่โบย เป็นชาวมอญ

องค์ที่2. หลวงปู่เหม๊น เป็นชาวเขมร

องค์ที่3. หลวงพ่อพระอุปฌาย์กลิ่น เป็นคนหนองบัว

องค์ที่4. หลวงพ่อเฒ่ายิ้ม จันทโชติ

การสร้างพระเครื่องของหลวงปู่ยิ้มนั้น ตามประวัติบันทึกของ พระโสภณสมาจารย์(หลวงปู่เหรียญ สุวรรณโชติ) กล่าวว่า หลวงปู่ยิ้มชอบทางรุกขมูลธุดงค์วัตร มีอุปนิสัยสันโดษ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง เมื่อออกพรรษาแล้วหลวงปู่จะเข้าป่าเจริญสมาธิในป่าลึก ท่านรู้จักภาษา นก สัตว์ป่าทุกชนิด จิตกล้าแข็ง จะทำเครื่องรางชนิดใดก็เข้มขลังไปทุกอย่าง... หลวงปู่ยิ้ม ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองบัวต่อจากพระอุปัชฌาย์กลิ่น หลวงปู่ยิ้มท่านได้ปฏิบัติทางวิปัสสนาจนมีชื่อเสียงมากและเป็นอาจารย์สอนทาง วิปัสสนากรรมฐาน ต่อมาท่านได้สร้างพระปิดตาและเครื่องรางขึ้นหลายอย่าง เพื่อแจกจ่ายให้ผู้ที่ต้องการนำไปติดตัวเป็นที่พึ่ง




สำหรับพระปิดตาอันโด่งดังนั้น ดีทางด้านเมตตามหาลาภ หลวงปู่ยิ้มท่านได้สร้างไว้หลายเนื้อหลายพิมพ์ มีทั้งพิมพ์ใหญ่( ชะลูดเล็ก, ชะลูดใหญ่) พิมพ์สังกัจจายน์ (พุงป่องเล็ก,ใหญ่),พิมพ์แข้งซ้อน,พิมพ์แข้งหมอน,พิมพ์เข่าบ่วง,พิมพ์โบราณ และพิมพ์อื่นๆ มีทั้งเนื้อเหลืองนิยม เนื้อขาว เนื้อผงเทา เนื้อผงคลุกรัก เนื้อผงธูป เนื้อขี้เป็ด เนื้อตะกั่ว และเนื้ออื่นๆ รวมทั้งจุ่มรักและคลุกรัก หลวงปู่ยิ้มท่านได้ผสมมวลสารอันเป็นมงคลศักดิ์สิทธิ์ และมวลสารวัตถุอาถรรพ์ไว้อย่างมากมาย รวมถึงรังผึ้งใหญ่ที่มาเกาะที่พระเกศของพระประทานในโบสถ์วัดหนองบัว ที่หลวงปู่ยิ้มท่านบอกกับโยมที่สนิทมากว่า ถ้าจะทำพระปิดตาที่มีพุทธคุณอันเปี่ยมล้นไปด้วยเมตตามหานิยมที่ดีที่สุดจะ ต้องมีส่วนผสมของรังผึ้งใหญ่นี้ ซึ่งในวันที่๑เมษายน๒๔๔๒หลวงปู่ยิ้มได้ทำพิธีขอรังผึ้งนั้นมาผสมกับมวลสาร ศักดิ์สิทธิ์อีกมากมายเพื่อให้ได้พระผงปิดตามหาลาภที่ดีเยี่ยมที่ สุด........

ในระยะเวลาที่ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสอยู่ช่วงปี พศ.๒๔๒๐-๒๔๕๔รวมระยะเวลาที่เป็นเจ้าอาวาส ๓๔ ปีท่านได้สร้างพระปิดตาไว้หลายพิมพ์ และเครื่องรางของขลังอีกมากโดยเฉพาะตะกรุดลูกอม(ตะกรุดหัวใจโลกธาตุ) ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ มีทั้งที่สร้างจากทองคำ, เงิน, นาก, ทองแดง, ทองฝาบาตร, ตะกั่วนมที่สร้างพระท่ากระดานในอดีต....ซึ่งเป็นตะกรุดขนาดเล็กใช้พกติดตัว เมื่อถึงคราวคับขันจวนตัวจะถูกทำร้ายให้กลืนเข้าไปในท้องป้องกันอันตรายได้ ตะกรุดนี้เชื่อว่าสามารถออกมาจากร่างกายได้เอง โดยให้ตั้งจิตอธิษฐานก่อนนอน รุ่งขึ้นตะกรุดก็จะออกมาอยู่ข้างตัว โดยจะไม่ออกทางทวารเบื้องต่ำ จึงเรียกว่า ตะกรุดลูกอม ลงยันต์ด้วยหัวใจโลกธาตุเป็นคาถาพระพุทธเจ้าเดินจงกลม ท่านได้ถ่ายทอดวิชานี้ให้ลูกศิษย์ ลูกศิษย์องค์ใดที่จะเรียน จะต้องนั่งสมาธิเพ่งไส้เที่ยนให้ขาดก่อนจึงสามารถเรียนวิชาทำตะกรุดโลกธาตุ นี้กับท่านได้ และยังมีเครื่องรางอื่นๆอีกเช่น หวายคาดเอว,เบี้ยแก้(หายากมาก),วัวธนู เชือกคาดตะขาบไฟ(ไส้หนุมาน) แหวนพิรอดนิ้ว, พิรอดแขน, เสืองาแกะ, ราชสีห์งาแกะ, ลูกประคำ และอื่นๆอีกมาก ซึ่งล้วนแล้วแต่เข้มขลังด้วยพุทธคุณทั้งสิ้น

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเฒ่ายิ้มนั้น มีชื่อเสียงโด่งดังจนเข้าถึงหูทั้งเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในบางกอก จนกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งโปรดวิชาไสยศาสตร์ ได้มากราบขอเป็นลูกศิษย์และเรียนวิชาท่านได้มีดหมอจากหลวงปู่ยิ้ม ไว้ใช้ประจำพระองค์หนึ่งเล่ม มีสรรพคุณปราบภูตผีปีศาจและปราบคนที่อยู่ยงคงกระพัน พระองค์ทรงนับถือหลวงปู่ยิ้มมาก ทั้งๆที่พระองค์เป็นศิษย์เอกของ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า และหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน .....ศิษย์หลวงปู่ยิ้มมีชื่อเสียงโด่งดังทุกองค์ อาทิเช่น

1.พระโสภณสมาจารย์ (เหรียญ) วัดหนองบัว

2.พระเทพมงคลรังษี (ดี) วัดเหนือ

3.พระกาญจนวัตรวิบูลย์ (สอน) วัดทุ่งลาดหญ้า

4.พระโสภณสมณกิจ (หัง) วัดเหนือ

5.พระครูวัตตสารโสภณ (ดอกไม้) วัดดอนเจดีย์

6.พระราชมงคลวุฒาจารย์ (ใจ) วัดเสด็จ จังหวัดสมุทรสงคราม เล่ากันว่าได้รับความชมเชยจากท่านว่านั่งไส้เทียนขาดเร็วกว่าท่านด้วย

7.พระอธิการแช่ม โสฬส วัดจุฬามณี

8.พระครูสกลวิสุทธิ์ (เหมือน) วัดกลางเหนือ เป็นต้น.....

พระ ผงปิดตาของท่านนั้นโด่งดังมากและสนนราคาสูงมากเช่นกัน เฉพาะพระผงปิดตานั้นทำด้วยผงอิทธิเจ ปถมัง พุทธคุณ ว่าน 108 เกสรดอกไม้บูชาพระ ไคลโบสถ์ ไคลเจดีย์ ไคลเสมา ใบโพธิ์ ข้าวสุกบาตรพระพุทธ ขี้เหล็กจาร หนังสือใหญ่ ผสมคลุกเคล้า แล้วนำมากดพิมพ์พระ การพิมพ์พระนั้นท่านจะให้พระภิกษุสามเณร เและถ้าเป็นฆราวาสต้องนุ่งขาวห่มขาวและถือศีลอุโบสถแล้วทำในพระอุโบสถ เมื่อเสร็จแล้วท่านจึงปลุกเสกอีกทีในพระอุโบสถ พระปิดตาของท่านนั้นมีอยู่หลายพิมพ์ เช่น พิมพ์ใหญ่(ชะลูด) พิมพ์สังกัจจายน์ (พิมพ์อุ้มท้อง) พิมพ์เล็ก และพิมพ์แข้งซ้อน ปัจจุบันหาทุกพิมพ์ได้ยากยิ่งครับ หลวงปู่ยิ้มท่านมรณภาพ ในปี พ.ศ. 2455 สิริอายุได้ 66 ปี พรรษาที่ 46 ในวันนี้ผมก็ได้นำรูปพระปิดตาพิมพ์ใหญ่มาให้ชมกันครับ



สำหรับพุทธคุณนั้น เปี่ยมล้นไปด้วยเมตตามหานิยม แคล้วคลาดเป็นเยี่ยม คนในพื้นที่ต่างยอมรับในประสบการณ์

เครดิต : http://www.web-pra.com/Shop/nongbluestar/Show/610062





















วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ทัศนศิลป์ : พระปิดตา วัดพลับ

วันนี้ เริ่มต้นที่ พระปิดตา พิมพ์สังฆจาย วันพลับ เนื้อพุทธคุณ โดยส่วนใหญ่แล้วพระเก่าเกือบ200ปี น่าจะสมัยพระเจ้าตาก กระมั้ง เก่ากว่าสมเด็จโตอีกครับท่าน......
เนื้อมันจะปริบแตกด้านหลังแทบบทุกองค์ โดยส่วนมากนะครับ พิมพ์จะเองไปทางซ้ายบ้างขวาบ้าง หาตรงๆไม่ค่อยมี แต่องค์นี้แทบจะเป็นตำนานแล้วเพราะหาหมุนเวียนยาก จุดสำคัญดูที่เนื้อเป็นหลัก แล้วค่อยดูที่พิมพ์ กับอายุ  แต่น่าจะเป็นต้นตำหรับ ของสมเด็จโต เลยก็ว่าได้
  
 
พระเนื้อผงพิมพ์วันทา วัดพลับ 

ร้านถ่ายรูปไม่ค่อยดี ออกทึบๆไปหน่อยมองแล้วไม่ค่อยมีเสน่ห์ ต้องขออภัยด้วยครับ

ประวัติพระวัดพลับแและพิมพ์ต่างๆ




พระ วัดพลับ แตกกรุราว พ.ศ.๒๔๖๕ เนื่องจากมีผู้พบเห็นกระรอกเผือกตัวหนึ่งวิ่งอยู่ในบริเวณวัด แล้ววิ่งเข้าไปในโพรงแคบของเจดีย์ข้างอุโบสถ ด้วยความอยากได้กระรอกเผือก ผู้พบจึงได้ใช้ไม่กระทุ้งเข้าไปในโพรง แต่เมื่อชักไม้ออกมาปรากฏว่า มีพระผงสีขาวขนาดเล็กพิมพ์ต่างๆ ไหลทะลักออกมาเพราะผนังเจดีย์ที่โบกไว้แตกออกเป็นช่อง ด้วยแรงกระทุ้งของไม้ พระที่พบได้ถูกลำเลียงออกมาแจกจ่ายและให้เช่ากัน นักนิยมพระเครื่องรุ่นก่อนจึงเรียกว่า “พระกรุกระรอกเผือก”
เมื่อสังฆวรานุวงศ์เถระ (ชุ่ม) วัดพลับ ทราบเรื่อง จึงได้ให้พระเณรช่วยกันรวบรวมพระที่เหลือในกรุทั้งหมดขึ้นมาเก็บไว้ในกุฏิ

พระ วัดพลับ เป็นพระผงเนื้อขาว กล่าวกันว่า เป็นต้นตำหรับพระเนื้อตระกูลสมเด็จ ซึ่งสร้างมาก่อนพระเนื้อผงอื่นใด โดยการสร้างจะสร้างพระขึ้นจากผงวิเศษเป็นหลัก มีน้ำมันตังอิ้วเป็นตัวประสาน ผสมปูนเปลือกหอยเข้าไป ส่วนมวลสารอื่นๆ เช่น เกสรดอกไม้ ขี้ธูป ไคลเสมา ฯลฯ ล้วนเป็นส่วนผสมรอง ท่านสมเด็จพระสังฆราช (สุก) เป็นผู้คิดค้นวิธีสร้างพระผงดังกล่าว และนำมาสร้างพระเป็นองค์แรก คือ พระสมเด็จอรหัง วัดมหาธาตุ สืบต่อมาองค์อาจารย์รุ่นหลังๆ ก็ได้นำการผสมสร้างพระของท่านมาเป็นแบบอย่าง แม้กระทั่ง พระสมเด็จของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง ธนบุรี ก็ได้ศึกษาเอาพระวัดพลับเป็นแบบฉบับการสร้างพระผงของท่านด้วยเช่นกัน

พระวัดพลับมีหลายพิมพ์ทรงและมีชื่อเรียกตามลักษณะหรือเอกลักษณ์ของพิมพ์ ดังนี้

พิมพ์ยืน หรือพิมพ์วันทาเสมา



พุทธ ลักษณะ องค์พระประทับยืน พระหัตถ์ทั้งสองยกประนมถือดอกบัว พระเศียรป้อมเขื่อง ลักษณะมีปิ่นพระเมาฬี แต่ถ้ากลับองค์พระมาตามแนวนอน จะมองดูคล้ายองค์พระนอนหนุนหมอน จึงมีผู้สันนิษฐานว่า อาจเป็นปางไสยาสน์หรือ ปางปรินิพพานก็ได้ แม้ว่าจะมีประเด็นขัดแย้งในพุทธลักษณะ ดังกล่าวว่าจะเป็นพระประทับยืน หรือพระนอน ก็ตาม ปัจจุบัน พระพิมพ์นี้ได้ถูกเรียกกันและยอมรับแพร่หลายว่า เป็นพิมพ์ยืน หรือพิมพ์วันทาเสมา พระพิมพ์นี้เป็นพิมพ์ที่มีขนาดใหญ่สุดและมีค่านิยมสูงสุด ในตระกูลพระผงวัดพลับทั้งหมด

พิมพ์ตุ๊กตา

พุทธลักษณะ องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระเศียรเขื่อง พระเมาฬีปรากฏเป็นสองลอน พระกรรณทั้งสองชัด ลายละเอียดของพระพักตร์ไม่ปรากฏ ลำพระศอเลือนราง แนวพระอังสาทั้งสองกว้าง พระอุทรคอดกิ่ว การหักพระกัปประ (ศอก) ทั้งสองอยู่ในลักษณะทอดเฉียง เข้าหาลำตัวพระองค์ ค่อนข้างจะแนบชิดองค์พระ แยกออกเป็น ๒ พิมพ์ด้วยกันคือ

๑. พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ พระกรรณทั้งสองข้างจะแนบชิดติดพระพักตร์ ปลายพระกรรณทั้งสองข้างจะโค้งเข้าไปที่แก้ม พระอุระ (อก) นูนหนาเด่นชัดเจน




๒. พิมพ์ตุ๊กตาเล็ก พิมพ์นี้ถ้าตัดกรอบชิดองค์พระมากจะแลดูขนาดเล็ก นักนิยมพระเครื่องรุ่นเก่าเรียก “พิมพ์ไข่จิ้งจก”




พิมพ์พุงป่อง

พุทธ ลักษณะ องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระเศียรและวงพระพักตร์แบบผลมะตูม รายละเอียดของวงพระพักตร์ไม่ปรากฏ พระเกศคล้ายกับสวมชฏา พระกรรมทั้งสองข้างแบบบายศรี ลำพระศอรางเลือน แนวพระอังสาทั้งสองกว้าง พระอุระนูนเล็กน้อย พระอุทรนูน (เป็นเอกลักษณ์ของพิมพ์พุงป่อง) การหักพระกัปประแบบโค้งวาดมน ช่วงพระเพลาแคบ ไม่ปรากฏลายละเอียดของพระหัตถ์และพระบาท การวางซ้อนพระชงฆ์ทั้งสองข้างปรากฏแนวชัด แบ่งออกเป็น ๒ พิมพ์ด้วยกัน คือ

๑. พิมพ์พุงป่องใหญ่




๒. พิมพ์พุงป่องเล็ก




พิมพ์สมาธิ

พุทธ ลักษณะ องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระเศียรและพระพักตร์แบบผลมะตูม ไม่ปรากฏลายละเอียดของพระพักตร์ พระกรรณแบบบายศรี แนวพระอังสาทั้งสองกว้าง ช่วงพระอุระชะลูดและมีความนูนน้อย พระอุทรค่อนข้างเรียว การหักพระกัปประทั้งสองข้างวาดมนเข้าหาลำพระองค์ ช่วงพระเพลากว้าง พระชงฆ์ทั้งสองที่ซ้อนกันปรากฏแนวชัดเจน ไม่ปรากฏรายละเอียดของพระหัตถ์และพระบาท ลักษณะรูปทรง โดยรวมมีรูปสัณฐานคล้ายตัวเบี้ยจั่น ขนาดขององค์พระไม่ค่อยแน่นอน ขึ้นอยู่กับการกดพิมพ์และการหดตัวของมวลสาร ซึ่งบางองค์ก็ทำให้พระเล็กเกินขนาดก็มีปรากฏ รวมทั้ง “ขอบปีก” จะมีทั้งที่มีปีกกว้างโค้งมนหรือเว้าตามส่วนวงรี โดยกดองค์พระวางอยู่กึ่งกลางพอดี กับที่กดองค์พระเอียงโย้ไปด้านข้างซึ่งจะสวยงามสู้แบบที่องค์พระวางฉากตรง กลางไม่ได้ พระพิมพ์นี้แยกออกเป็น ๒ พิมพ์ด้วยกันคือ

๑. พิมพ์สมาธิ




๒. พิมพ์สมาธิเข่ากว้าง




พิมพ์ปิดตา

พุทธลักษณะ องค์พระประทับนั่งขัดราบ ยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างปิดพระพักตร์ แบ่งออกเป็น ๒ พิมพ์ด้วยกันคือ

๑. พิมพ์ใหญ่ มีซุ้มที่หู แขนกาง หลังอูม




๒. พิมพ์เล็ก แขนชะลูด คล้ายพระกรุวัดอัมพวา

นอก เหนือจากพิมพ์ดังกล่าวข้างต้น ยังมีปรากฏพิมพ์พิเศษ เป็นพิมพ์สองหน้า โดยมีองค์พระทั้งสองด้าน ด้านละพิมพ์ ซึ่งจะไม่ค่อยพบ หายากมาก เช่น พิมพ์พุงป่องเล็ก กับพิมพ์ตุ๊กตาเล็ก อยู่คนละด้าน




อนึ่ง การแบ่งพิมพ์พระดังกล่าวข้างต้นนี้ อาจแตกต่างจากบางสำนัก ที่จัดแบ่งพิมพ์พระสมาธิ เป็นพิมพ์สมาธิใหญ่ สมาธิเล็ก อีกด้วย แต่ทั้งนี้ ผู้เขียนสังเกตดูเห็นว่า น่าจะเป็นพิมพ์พระเดียวกันมากกว่า แตกต่างกันที่การตัดขอบพระ คือ ตัดขอบมีด้านข้างเหลือมากหรือตัดขอบชิดองค์พระ ทำให้เรียกแตกต่างกันออกไป

ลักษณะเนื้อหา

พระ วัดพลับ เป็นเนื้อผงขาวผสมปูนเปลือกหอยและเกสรดอกไม้ มีความละเอียด แน่น แกร่ง และขาวจัด เนื้อโดยทั่วไปจะปรากฏส่วนผสมของเกสรดอกไม้ เม็ดกรวด สีขาวใส บางองค์จะมีคราบสีน้ำตาลเกาะอยู่ มีทั้งที่เป็นเนื้อละเอียด และเนื้อหยาบ (มีกรวดทราย) พระส่วนมากเนื้อจะมีรอยแตกลาน อย่างที่เรียกกันว่า ลายแบบไข่นกปรอด ในบางองค์มีเนื้องอกเป็นตุ่มกลมผุดขึ้นมากจากพื้นผิดองค์พระ มีลักษณะขาวขุ่นแต่ใสกว่าเนื้อพระและมีความแข็ง นักสะสมรุ่นก่อนๆ นิยมชมชอบพระวัดพลับที่มีเนื้องอก และเรียกกันว่า “ดี” พระที่ยังไม่ผ่านการใช้มาก่อนเลย ผิวจะขาวสะอาด พระบางองค์ผิวแน่นตึงขึ้นมันคล้ายพระสมเด็จบางขุนพรหมกรุเก่า



(ภาพแสดงคราบกรุและเนื้อหาของพระวัดพลับทั้งที่ผ่านการใช้มา, ไม่ได้ใช้, พระเนื้อหยาบ และพระที่มีคราบน้ำหมาก)

พระ วัดพลับนี้ นอกจากจะพบภายในเจดีย์วัดพลับแล้ว ยังพบพระพิมพ์นี้ที่กรุ วัดโค่ง จังหวัดอุทัยธานี อีกด้วย สันนิษฐานว่า เป็นพระที่นำไปบรรจุเอาไว้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้นำไปบรรจุไว้ ความแตกต่างระหว่างพระวัดพลับ และวัดโค่ง แยกได้จากคราบกรุ ซึ่งพระของวัดโค่งจะมีคราบกรุสีน้ำตาลจับแน่นและหนาเกาะติดอยู่ทั่วไป ส่วนของวัดพลับแทบโดยทั่วไปจะไม่มีคราบกรุเลย ปัจจุบันนักนิยมสะสมจะไม่ได้แยกแยะว่าเป็นของกรุใดเนื่องจากศรัทธาในพุทธคุณ และผู้สร้างว่าเป็นสมเด็จพระสังฆราช (สุก) พระองค์เดียวกันทั้งสองกรุ

(อ่าน ข้อมูลเกี่ยวกับพระประวัติของสมเด็จพระสังฆราช (สุก) และพระวัดพลับ ของอาจารย์ จ.ส.อ.เอนก เจกะโพธิ์ ได้ที่เวป ศูนย์พระดอทคอม ตามลิงค์ http://www.soonphra.com/content/viewtopic/viewtopic.php?topicid=47&topicdetailid=67)

พระ วัดพลับนี้ ได้รับความนิยมมายาวนาน เพราะพุทธานุภาพ มีประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ ในทางเมตตามหานิยม โชคลาภ และแคล้วคลาดจากสรรพภัยต่างๆ อย่างเยี่ยมยอด


เรียบเรียงจาก

นิตยสารมหาโพธิ์ ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๓๔ วันที่ ๑๕ – ๓๐ กันยายน ๒๕๓๙
นิตยสารมหาโพธิ์ ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๓๕๓ วันที่ ๑๕ – ๓๐ มกราคม ๒๕๔๐
นิตยสารมหาโพธิ์ ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๓๕๔ วันที่ ๒๘ ก.พ. – ๑๕ มี.ค. ๒๕๔๐

นิตยสารมหาโพธิ์ ตำรานักเล่นพระ ฉบับที่ ๑๒ ประจำเดือน มีนาคม ๒๕๔๐
นิตยสารมหาโพธิ์ ตำรานักเล่นพระ ฉบับที่ ๑๕ ประจำวันที่ ๑ – ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๐

นิตยสารมรดกพระเครื่อง ฉบับที่ ๓ ประจำเดือน มีนาคม ๒๕๔๑

เวปศูนย์พระดอทคอม http://www.soonphra.com รอบรู้เรื่องพระ พระวัดพลับ
http://www.soonphra.com/content/viewtopic/viewtopic.php?topicid=47&topicdetailid=67

ภาพประกอบจาก

เวปศูนย์พระดอทคอม http://www.soonphra.com
เวปท่าพระจันทร์ดอทคอม http://www.thaprachan.com
เวปยูอะมิวเลทดอทคอม http://www.uamulet.com
ซึ่งผู้เขียนต้องขออนุญาตเจ้าของภาพและขอขอบคุณอย่างสูงมา ณ ที่นี้

เครดิต : http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=visutthisiri&date=03-02-2010&group=8&gblog=2